เทคนิควิธีการนำทัวร์ของมัคคุเทศก์
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับคำว่า
“มัคคุเทศก์” หรือที่หลาย ๆ คน
เรียกติดปากกันว่า “ไกด์” มัคคุเทศก์หรือไกด์ถือเป็นอาชีพหนึ่งที่ใครหลาย
ๆ คนใฝ่ฝันเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นอาชีพที่ได้ท่องเที่ยวอยู่ตลอดเวลา ได้เดินทางไปพบเจอสิ่งใหม่
ๆ และยังได้ประสบการณ์ในระหว่างการทำงานจากการพบปะกับผู้คนมากมาย
👉มัคคุเทศก์ หมายถึง
ผู้ที่ทำหน้าที่นำนักท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่าง
ๆ และให้คำอธิบายแนะนำเกี่ยวกับสถานที่นั้น ๆ หรืออาจกล่าวง่าย ๆ ว่าเป็นผู้นำทางหรือชี้ทาง
และยังให้ความช่วยเหลือ
ข้อมูล ความเข้าใจทางด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และเหตุการณ์ร่วมสมัยต่าง ๆ แก่บุคคลที่อยู่ในกลุ่มท่องเที่ยว
แต่ขอบเขตการทำงานของมัคคุเทศก์นั้นไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่นำเที่ยวเท่านั้น
ยังมีหน้าที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เป็นผู้จัดการทัวร์ซึ่งทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของลูกทัวร์
จัดสรรเวลาต่าง ๆ ในการเดินทางและทำกิจกรรม และยังเป็นผู้อำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวทั้งด้านโรงแรม
ด้านการรับประทานอาหาร ด้านการเดินทาง และด้านอื่น ๆ เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าหน้าที่ของการเป็นมัคคุเทศก์ต้องมีความรับผิดชอบในหลาย
ๆ เรื่อง แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดของการเป็นมัคคุเทศก์ที่ดี และมีประสิทธิภาพได้นั้นจะต้องมีความสามารถในการนำทัวร์ให้น่าสนใจ
ดึงดูดผู้ฟังให้ได้มากที่สุด รวมทั้งบุคลิกภาพ การยิ้มแย้ม สายตาที่เป็นมิตร ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งแรกที่นักท่องเที่ยวเห็นแล้วประทับใจ
ในครั้งนี้เราจะมาสรุปเทคนิควิธีการนำทัวร์ของมัคคุเทศก์ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้
1.กระบวนการทำงานของมัคคุเทศก์
ในช่วงแรกของการนำทัวร์ มัคคุเทศก์จะต้องหาจุดที่เหมาะสมในการยืนอธิบายเกี่ยวกับข้อมูลเบื้องต้นของสถานที่ท่องเที่ยวนั้น
ๆ ก่อนที่จะเข้าชมด้านใน โดยต้องมีพื้นที่เพียงพอต่อจำนวนลูกทัวร์ ไม่เป็นทางสัญจร
ร่มรื่น ไม่แดดมากจนเกินไป และลูกทัวร์ต้องสามารถมองเห็นมัคคุเทศก์ได้สะดวก ซึ่งกระบวนการในการทำงานของมัคคุเทศก์ในช่วงแรกนั้น
ประกอบด้วย
1.1
การแนะนำตัว มัคคุเทศก์จะต้องแนะนำตัวเองกับลูกทัวร์ทุกคนตั้งแต่เริ่มแรก
อาจพูดเกี่ยวกับประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาเพื่อให้ลูกทัวร์สนใจที่จะฟังเรามากขึ้น
เช่น ประสบการณ์การเป็นมัคคุเทศก์ให้กับชาวไทยที่ต่างประเทศหรือชาวต่างชาติที่มาเที่ยวที่ประเทศไทย
เป็นต้น
1.2
ภาพรวมของโปรแกรมทัวร์
มัคคุเทศก์ควรกล่าวถึงโปรแกรมทัวร์ในภาพรวมว่าในวันนั้นลูกทัวร์จะได้เดินทางไปสถานที่ใดบ้าง
มีอะไรน่าสนใจ และจุดไฮไลท์อยู่บริเวณไหน เพื่อให้ลูกทัวร์เตรียมตัวสำหรับการเดินทางและท่องเที่ยวครบทุกสถานที่ตามโปรแกรมที่วางไว้
1.3
แนะนำข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสถานที่กำลังจะเข้าชม
ก่อนที่มัคคุเทศก์จะนำลูกทัวร์เข้าชมภายในของสถานที่นั้น ๆ
มัคคุเทศก์จำเป็นต้องพูดถึงข้อมูลเบื้องต้นให้ลูกทัวร์เข้าใจก่อน เช่น ประวัติความเป็นมา
การก่อสร้างเมื่อไหร่โดยใคร สำคัญอย่างไร และจุดสนใจหลักคือบริเวณใด
เพื่อให้นักท่องเที่ยวภูมิใจที่ได้มา ซึ่งเนื้อหาในส่วนนี้ต้องสั้น กระชับ และเหมาะกับกลุ่มนักท่องเที่ยวนั้น
ๆ ด้วย
1.4
ข้อควรระวัง/ ข้อห้าม เป็นสิ่งสำคัญมากที่มัคคุเทศก์ต้องอธิบายให้นักท่องเที่ยวเข้าใจ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถ่ายภาพหรือวิดีโอ เพราะบางสถานอาจมีข้อห้าม เนื่องจากเป็นการป้องกันไม่ให้แสงแฟลชจากกล้องถ่ายรูปไปทำให้โบราณวัตถุเสื่อมสภาพ
รวมทั้งเป็นการรักษาสิทธิ์ของผู้เข้าชมรายการอื่น ๆ ที่ต้องการชมโดยไม่ถูกรบกวน นอกจากนี้มัคคุเทศก์ต้องอธิบายเรื่องกฎเกณฑ์และข้อปฏิบัติต่าง
ๆ ที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติไม่รู้มาก่อน
อธิบายให้เห็นถึงความแตกต่างของความเชื่อ ศาสนา ขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรม และลักษณะร่วมของคนแต่ละชาติ
และไม่ก่อให้เกิดความไม่เข้าใจหรือความเข้าใจผิดระหว่าง เช่น
การห้ามสวมหมวกในในวัดหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะวัฒนธรรมของคนไทยมองว่า “ไม่สุภาพ”
เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวในขณะเดินชม
เช่น ทางต่างระดับ ทางราด และชี้แจงการนัดหมายในเรื่องการเข้าห้องน้ำ
เวลาในการเข้าชมในแต่ละสถานที่ และการนัดหมายจุดนัดพบที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยวหลงทางได้
2. เนื้อหาที่มัคคุเทศก์ควรนำเสนอ
การนำทัวร์ที่ดีควรมีเนื้อหาในการพูดที่เหมาะสมและถูกต้อง
คลอบคลุมประเด็นสำคัญ และต้องกระชับเข้าใจง่าย โดยมีวิธีการดังต่อไปนี้
2.1
พูดใจความสำคัญของเนื้อหา
โดยมัคคุเทศก์จักต้องเรียงลำดับความสำคัญของเนื้อหามาก่อน
ซึ่งเนื้อหาต้องครอบคลุมว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ทำไม และอย่างไร จุดสำคัญคือต้องกระชับ
เข้าใจง่าย
2.2
เลือกพูดเฉพาะประเด็นที่น่าสนใจ หลังจากที่มัคคุเทศก์ได้พูดใจความสำคัญจากข้อ
2.1 ไปแล้ว ประเด็นสำคัญต่อมาคือการพูดเรื่องที่กลุ่มของลูกทัวร์ของเราสนใจ
โดยประเมินจากช่วงวัย เพศ หรือวัฒนธรรมของกลุ่มนักท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นชาวไทย
ชาวจีน เป็นต้น
2.3 เกร็ดความรู้เพิ่มเติม ในส่วนนี้เป็นส่วนเพิ่มเติม
อาจจะพูดหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และเวลาที่เหมาะสม
จากที่กล่าวมา เนื้อหาในการพูดทั้งหมดนั้นต้องสามารถเชื่อมโยงในแต่ละที่ได้
ไม่วกไปวนมา และไม่ยาวจนเกินไป
3. เทคนิคการนำชมและการพูดของมัคคุเทศก์ที่ดี
การพูดเป็นศาสตร์และศิลป์อาจจะต้องอาศัยความสามารถเฉพาะตัวของผู้พูดด้วย
มัคคุเทศก์ต้องมีการเตรียมตัวที่ดีสำหรับการอธิบาย การลำดับเนื้อหา
ถ่ายทอดด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย รู้จักกาลเทศะ ควรพูดเรื่องใด เวลาใด
ใช้ภาษาให้เหมาะสมกับเพศ วัย และสถานการณ์ ประกอบกับท่าทางและสายตา ซึ่งเทคนิคต่าง ๆ สามารถสรุปได้ดังนี้
3.1 ลักษณะท่าทาง ในขณะที่มัคคุเทศก์กำลังนำเสนออยู่นั้น
ควรยืนเอียงประมาณ 45 องศา โดยไม่หันหลังให้กับลูกทัวร์
และไม่จำเป็นต้องดูสิ่งที่เรานำเสนอมากจนเกินไป หรืออย่างมาก คือหันไปมองดูเพียงครั้งเดียวก็เพียงพอ
เพราะมัคคุเทศก์ต้องสื่อสารกับลูกทัวร์ตลอดเวลาว่าเข้าใจในสิ่งที่เราอธิบายหรือไม่
3.2 การใช้ภาษามือ เป็นการช่วยให้นักท่องเที่ยวเข้าใจง่ายขึ้น
โดยชี้ไปยังสถานที่ที่กำลังอธิบาย ช่วยบอกตำแหน่งที่ถูกต้อง
แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ควรใช้ภาษามือไปเกินความจำเป็น เช่น การแกว่งแขนมากเกินไป
ทำให้เสียบุคลิกภาพ และยังทำให้ลูกทัวร์สับสนอีกด้วย
3.3 บุคลิกภาพ ความมั่นใจเป็นสิ่งที่มัคคุเทศก์พึงมีตลอดเวลา
เพราะช่วยให้เราดูน่าเชื่อถือมากขึ้น ต่อมาคือการยิ้มแย้ม ซึ่งเป็นการสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
สามารถสร้างความประทับใจให้กับลูกทัวร์ และการพูดจา ควรระมัดระวังเกี่ยวกับคำพูด
น้ำเสียง ปฏิกิริยาของผู้ฟังอยู่เสมอ
3.4 การให้ลูกทัวร์ได้มีส่วนร่วม โดยการให้ลูกทัวร์ได้ตอบคำถามต่าง
ๆ ซึ่งเป็นวิธีการที่จะทำให้ลูกทัวร์สนใจในการฟังมากขึ้น รู้สึกสนุกสนาน และเกิดความสนิทสนมระหว่างมัคคุเทศก์และลูกทัวร์
ช่วยสร้างมิตรภาพที่ดีซึ่งกันและกัน
3.5 การใช้อุปกรณ์เสริม กรณีใช้อุปกรณ์เสริมเป็นวิธีที่จะช่วยให้ลูกทัวร์เข้าใจ
และเห็นภาพชัดเจนในขณะที่กำลังอธิบาย เพราะในบางสถานที่มัคคุเทศก์ไม่สามารถเข้าไปอธิบายใกล้
ๆ ได้ พื้นที่แคบ และแออัด จึงจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ช่วย เช่น ภาพถ่าย เป็นต้น
3.6 การใช้คำอธิบายลักษณะสิ่งของ หรือเรียกง่าย ๆว่า
การใช้คำ adjective เพื่ออธิบายลักษณะสำคัญของสิ่งนั้น ๆ
เช่น สี รูปทรง เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้นักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นสิ่งที่กำลังฟังได้รวดเร็วขึ้น
3.7 อื่น ๆ เช่น การใช้สายตาต้องทั่วถึง เพราะมัคคุเทศก์ต้องวิเคราะห์ผู้ฟังตลอดเวลา
เทคนิคการตอบคำถาม คือ มัคคุเทศก์ไม่จำเป็นต้องตอบคำถามยาวจนเกินไป
เนื่องจากอาจทำให้เสียเวลาและลูกทัวร์คนอื่น ๆ อาจจะเบื่อได้
นอกจากนี้การนัดหมายเวลาและสถานที่เป็นส่วนสำคัญทุกครั้งที่มัคคุเทศก์ต้องย้ำและอธิบายอย่างละเอียด
เพื่อป้องกันการพลัดหลงและเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น